หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 48


ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้ 

          1. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

          2. ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

          ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างประกาศ

          พม. เสนอว่า

          1. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 มาตรา 16/1 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศ กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ และประกาศกำหนดให้สถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะใดๆ ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรการดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 กำหนดมาตรการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เช่น

              1.1 ให้สถานที่ที่ใช้ในการประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ ได้แก่ สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม อาคาร ที่พักอาศัยในเชิงพาณิชย์ประเภทหอพัก อาคารชุด หรือเกสต์เฮาส์ (Guest House) ที่ให้ผู้อื่นเช่า โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยแรงงาน เรือประมงต่างประเทศที่เข้ามาในน้ำน่านไทย อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

              1.2 ให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ดำเนินกิจการสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ ต้องชี้แจงหรือจัดให้มีการอบรมลูกจ้างเกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ต้องอนุญาตให้ใช้เครื่องมือติดต่อสื่อสารระหว่างลูกจ้างกับบุคคลภายนอก

          2. ต่อมาได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานร่วมรักษาการ เพิ่มความผิดและมาตรการในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และกำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ รวมทั้งกำหนดอัตราโทษให้เหมาะสม ด้วยเหตุดังกล่าว พม. จึงได้เสนอร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ เพื่อปรับปรุงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ให้สอดคล้องกับพระราชกำหนดดังกล่าว และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งร่างประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

              2.1 กำหนดให้ พม. กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะตามกฎหมายนั้น กำกับ ดูแลให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ดำเนินกิจการ ดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ ดังต่อไปนี้

                    (1) ชี้แจงหรือให้ความรู้แก่ลูกจ้าง หรือผู้รับบริการ อย่างน้อยปีละครั้ง 

                    (2) อนุญาตให้ลูกจ้างติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้

                    (3) ตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือ ในกรณีที่ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นใดกล่าวอ้างว่ามีการใช้กำลังบังคับหรือทำร้ายเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ

                    (4) อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปในสถานประกอบกิจการ โรงงาน หรือยานพาหนะ ที่ตนเป็นเจ้าของ หรือผู้ครอบครอง

                    (5) ควบคุม สอดส่อง และดูแล ไม่ให้มีการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ

                    (6) แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพบว่ามีการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ หรือให้ข้อมูลข่าวสาร หรือพฤติการณ์ต่างๆ ของบุคคลซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยหรือควรเชื่อได้

              2.2 กำหนดให้สถานที่ที่ใช้ในการประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ ได้แก่ สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ อาคารที่พักอาศัยในเชิงพาณิชย์ประเภทหอพัก อาคารชุด หรือเกสต์เฮาส์ (Guest House) ที่ให้ผู้อื่นเช่า1 โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยแรงงาน เรือประมงต่างประเทศที่เข้ามาในน้ำน่านไทย อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

          3. พม. ได้จัดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศดังกล่าว จำนวน 2 ครั้ง ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย https://www.law.go.th ในวันที่ 18 กันยายน ถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2566 และในวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2567 และได้มีการแจ้งเวียนเพื่อประชาสัมพันธ์ทุกกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็น ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นปรากฏว่าเห็นชอบด้วยกับร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว

          4. ร่างประกาศในเรื่องนี้เป็นการออกกฎหมายลำดับรองซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 เข้าข่ายเป็นกรณีตามมาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 25622 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 ออกไปอีก 1 ปี (ครบกำหนดในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567) ดังนั้น มีความจำเป็นต้องเร่งออกร่างประกาศในเรื่องนี้ให้ทันภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 

________________________

1 ปรับจากอาคารที่พักอาศัยในเชิงพาณิชย์ประเภทหอพัก อาคารชุด หรือเกสต์เฮ้าส์ (Guest House) ที่ให้ผู้อื่นเช่า เพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

2 มาตรา 22 วรรคสอง บัญญัติให้กฎหมายที่มิใช่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎ หรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมาย หรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนั้นได้ หากมิได้มีการออกกฎดังกล่าวหรือยังมิได้ดำเนินการนั้นภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ และบทบัญญัติในเรื่องนั้นก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชน ให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลบังคับ แต่ในกรณีที่บทบัญญัติในเรื่องนั้น ให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับได้ โดยไม่ต้องมีกฎหรือดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ระยะเวลาสองปีดังกล่าวคณะรัฐมนตรีจะมีมติขยายออกไปอีกก็ได้แต่ไม่เกินหนึ่งปี และต้องมีมติก่อนที่จะครบกำหนดเวลาสองปีดังกล่าว

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 กรกฎาคม 2567

 

 

7718

Click Donate Support Web 

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!