หมวดหมู่: ธปท.

BOA


กนง.หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.8% หวั่นรอยต่อรัฐบาลกระทบการลงทุน

 กนง.เผยผลประชุมครั้งล่าสุด หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.8% จาก เดิม 4% พบปัจจัยเสี่ยงอื้อ ทั้งศก.ประเทศคู่ค้าโตต่ำคาด หลังเจอสงครามการค้า - Brexit กดดัน ส่วนในประเทศหวั่นรอยต่อรัฐบาลใหม่ทำการลงทุนสะดุด ขณะที่หนี้ครัวเรือน - การแสวงหากำไรในสหกรณ์ และสินเชื่ออสังหาฯ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อระบบการเงินที่ต้องจับตา พร้อมประกาศคงดบ.นโยบาย หวังเอื้อเงินเฟ้อโตได้ตามเป้าหมาย  

  ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผย รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 2/2562 วันที่ 20 มีนาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ ณ วันที่ 3 เมษายน 2562 โดยกรรมการที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายวิรไท สันติประภพ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นายคณิศ แสงสุพรรณ นายสุภัค ศิวะรักษ์นายสมชัย จิตสุชน

  คณะกรรมการฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 และ 2563 มีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงศักยภาพแม้จะเติบโตชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้เดิมบ้างจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ขณะที่ยังมีแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ร้อยละ 4.0 และในปี 2563 เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3.9 สำหรับโอกาสที่ประมาณการเศรษฐกิจจะต่ำกว่ากรณีฐานมาจาก (1) การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจต่ำกว่าคาดจากความไม่แน่นอนอาทิ ผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกลับมารุนแรงขึ้น (2) การลงทุนภาคเอกชนที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาดจากความไม่แน่นอนทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานจาก (1) เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวน้อยกว่าคาดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน และ (2) อุปสงค์ในประเทศอาจมากกว่าคาดจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐโครงการ PPP และการลงทุนภาคเอกชนที่อาจเกิดขึ้นเร็วภายหลังความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลายเร็วกว่าคาด รวมทั้งมาตรการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภาคเอกชนเพิ่มเติม

  ทั้งนี้ ควรให้ติดตามความต่อเนื่องของแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลใหม่ ซึ่งอาจกระทบความต่อเนื่องของโครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชน การนำเข้าสินค้าทุนและการปรับตัวของดุลบัญชีเดินสะพัดในระยะข้างหน้า รวมถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินและต่อฐานะการคลังระยะปานกลาง รวมถึงให้ติดตามภาวะภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

  เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยรวมมีแนวโน้มชะลอลง เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักและเอเชียได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะจากปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลง รวมถึงปัจจัยเฉพาะของบางประเทศ เช่น ผลกระทบชั่วคราวจากการปิดทำการของหน่วยงานภาครัฐในสหรัฐฯความยืดเยื้อของปัญหาทางการเมืองในยุโรป รวมทั้งความไม่แน่นอนจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการผลิตและการส่งออกอย่างไรก็ดี ปัจจัยด้านตลาดแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องช่วยสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป

  ในระยะต่อไปเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีโอกาสขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐานตามทิศทางความเสี่ยงจากการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งความเสี่ยงจากกรณีที่สหราชอาณาจักรอาจออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (no-deal Brexit) คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของความเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและประเมินผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะผลของการเร่งสะสมสินค้าคงคลังของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักในช่วงไตรมาสที่ 4 ของ ปี2561 ซึ่งอาจมีผลต่อการผลิตและการบริโภคในระยะต่อไป

  คณะกรรมการฯ เห็นว่าตลาดการเงินโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยมีสาเหตุหลักจาก (1) ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก (2) ความคืบหน้าในการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และ (3) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit และการเมืองในกลุ่มประเทศยูโรที่อาจรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งอาจกดดันราคาสินทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาค นอกจากนี้ราคาสินทรัพย์ไทยอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความไม่แน่นอนภายในประเทศหลังประกาศผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป

   ความเสี่ยงบางจุดอาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพของระบบการเงินในอนาคตได้อาทิ (1) การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลขณะที่คุณภาพสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีแนวโน้มด้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ผ่อนคลายลงในช่วงก่อนหน้า (2) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) เช่น สินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีบทบาทในระบบสหกรณ์มากขึ้นผ่านการให้กู้ยืมระหว่างกัน นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีการระดมทุนเพิ่มขึ้นในช่วงที่

  อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และมีสัดส่วนสูงในตลาดตราสารหนี้และตลาดสินเชื่อ ธพ. และ (3) ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ อาทิ อุปทานคงค้างในบางพื้นที่ อุปสงค์จากต่างชาติในอสังหาริมทรัพย์ไทย และการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แม้ ธพ. จะเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อใหม่ให้เหมาะสมกับสถานะของผู้กู้มากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังระดมทุนผ่านสินเชื่อ ธพ. และตราสารหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

   คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ในการประชุมครั้งนี้เพื่อรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ให้ชัดเจนขึ้น เห็นว่าการพิจารณาใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่เหมาะสมยังจำเป็นสำหรับการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า ซึ่งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

กกร.หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.7-4% ส่งออกโตแค่ 3-5% ศก.โลกไม่แน่นอน

  นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ระบุ หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.7-4% จากเดิมคาดโต 4-4.3% พร้อมปรับลดเป้าส่งออกนี้เหลือโต 3-5% จากเดิมคาดโต 5-7% ชี้เศรษฐกิจโลกไม่แน่นอนมากขึ้น สงครามการค้า-ฺBrexit -เศรษฐกิจจีนกดดัน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  - ทิศทางเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณของความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยแม้ว่าจะมีความคาดหวังในเชิงบวกต่อประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน แต่จนถึงขณะนี้ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ หรือ มีรายละเอียดที่ชัดเจนออกมา ในขณะเดียวกันกรณีอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ก็ยังไร้ข้อสรุป และยังคงเป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งประเด็นดังกล่าวรวมทั้งแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะสร้างแรงกดดันต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ และต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า โดยหลังจากที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกที่ไม่รวมรายการยุทโธปกรณ์ของไทยสะท้อนภาพที่ไม่สดใสนัก

  - ซึ่งเมื่อพิจารณาปัจจัยภายในประเทศ ก็ยังคงต้องรอความชัดเจนทางการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่หลังวันที่ 9 พ.ค. 62 โดยภารกิจแรกของรัฐบาลชุดใหม่นอกจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 63 แล้ว ยังเป็นที่คาดหวังว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก

  - อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาพการส่งออกที่เติบโตชะลอกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยที่ประชุม กกร. ประเมินว่า การส่งออกในปี 62 อาจขยายตัวประมาณ 3-5% จากเดิมคาดไว้ที่ 5-7% ส่งผลให้ กกร. ทบทวนปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 62 มาเป็น 3.7-4% จากเดิมคาดไว้ที่ 4-4.3% ส่วนมุมมองต่ออัตราเงินเฟ้อ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 62 จะอยู่ที่ 0.8-1.2%

  - นอกจากนี้ ทาง กกร. ได้ทำการศึกษาโครงการ National Digital Trade Platform เพื่อให้การรับรองการขยายตัว และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการนำเข้า-ส่งออกของไทยผ่านระบบ Digital โดยมีผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ภาครัฐ,ภาคการค้าบริการ, ภาคการผลิต, ภาคการธนาคาร, การขนส่ง และ การประกันภัย ทั้งนี้ โครงการนี้จะทำการเชื่อมต่อกับ NSW เพื่อให้ครบวงจรระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการรับส่งข้อมูลในการค้าและการส่งออก ซึ่งจะได้ประโยชน์ในด้าน Ease of Doing Business ของไทยด้วยโดยทาง กกร. ได้หารือร่วมกับทาง กพร. ดำเนินการขับเคลื่อนในส่วนของภาครัฐ และ ในภาพระดับภูมิภาค กกร. ได้นำเสนอโครงการนี้นำร่องใน ASEAN และ APEC เพื่อให้เกิดการรับส่งข้อมูลการค้าในระบบดิจิทัลระหว่างประเทศต่อไป

  - ทั้งนี้ กกร.ได้ร่วมกับ กรมสรรพากร จัดงานสัมมนา "มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการภายใต้การบูรณาการร่วมกัน 5 หน่วยงานร่วม” ในวันที่ 22,24,26 เม.ย. 62 ในภูมิภาคต่างๆ ในต่างจังหวัด และ วันที่ 30 เม.ย. 62 ใน กทม.

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!