หมวดหมู่: ธปท.

BOAวรไท


ผู้ว่าธปท. เล็งออก 3 มาตรกการ คุมบาทแข็งภายใน 1-2 เดือนนี้

 ผู้ว่าธปท. เตรียมออก 3 มาตรการดูแลค่าเงินบาท ใน 1-2 เดือนนี้ หลังค่าบาทแข็งค่าเร็วในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทั้งจากเงินทุนต่างชาติเตรียมเข้ามาซื้อหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ รวมทั้งการซื้อขายทองคำ ระบุตั้งแต่ต้นปีไทยส่งออกทองคำ 4-5 พันล้านดอลล์ หนุนเงินไหลเข้ามาก

 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าาวยอมรับว่า มีความเป็นห่วงเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ช่วง 1-2 เดือนนี้ ธปท.จะออกมาตรการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

 มาตรการแรก ต้องการเปิดเสรีเพื่อนำเงินทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยมี 3 มาตรการย่อย คือ 1. การผ่อนเกณฑ์ให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ 2. สามารถพักเงินต่างประเทศของผู้ส่งออกเพิ่มมากขึ้น และ3. เพิ่มผู้ประกอบการแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อทำให้เกิดการแข่งขัน

 มาตรการที่สอง คือ ดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อทำให้เกิดความสมดุลของการไหลเข้า และ ไหลออกของเงินทุน

 มาตรการที่สาม คือ การลงทุนเชิงโครงสร้างพื้นฐานดิจิตัล ซึ่งต้องการให้นำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยใช้โอกาสที่เงินบาทเอื้อให้เกิดการนำเข้าเพื่อสร้างรากฐานให้กับเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล

        ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาท คือการเปลี่ยนแปลงของสภาวะในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ หรือ การเมือง เพราะที่ผ่านมาจะเห็นพัฒนาการทางด้านต่างๆ อย่างสงครามการค้า และ Brexit ซึ่งส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน

 นอกจากนี้ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยในช่วง 8 เดือนแรกไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และ ภายในสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 6.3% ของจีดีพีทำให้เงินทุนไหลเข้ามามากกว่าเงินที่ใช้จ่ายในประเทศ ตลอดจนการส่งออกที่ยังหดตัวแรง ซึ่งภายใต้เกินดุลมีการส่งออกทองคำในมูลค่าที่สูง และในเวลาที่เกิดความไม่แน่นอนของโลก มีนักลงทุนที่ลงทุนในทองคำ และเทขายออกมาเมื่อราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น พบว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการส่งออกทองคำสุทธิ 4,000-5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามา

    ทั้งนี้ ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า การลงทุนจาก 2 กลุ่ม โดยเฉพาะตราสารที่ลงทุนในหุ้น หรือ ในพันธบัตร และการลงทุนโดยตร ง(FDI) ซึ่งก่อนหน้านี้มีความกังวล หลังมีเงินทุนไหลเข้ามาในตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในไตรมาส 2/62 สะท้อนจากการจัดตั้งรัฐบาล และ การปรับน้ำหนักการลงทุนของไทย ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือ พันธบัตรระยะยาว คือ สิ่งที่ธปท. และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีความกังวลจึงออกมาตรการในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อยับยั้งไม่ให้กระแสเงินไหลเข้ามาพักเงินในไทยได้ง่าย และ ในช่วงส.ค.-ต.ค. มีการกลับทิศของพอร์ตลงทุนต่างประเทศ ซึ่งพบว่า มีการไหลออกไปสุทธิ 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

 “1-2 เดือนนี้จะเห็นมาตรการดังกล่าว เพราะบางอย่างอยู่นอกเหนืออำนาจ และ กฎหมายที่เรามี ต้องได้รับการเห็นชอบจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าจะควบคุม เพียงแต่จะดูว่า จะมีช่องทางไหน หรือ ทำอย่างไรให้ Flow ทองคำไม่มีผลกระแทกแรงๆ จนมีผลกระทบต่อค่าเงินบาท ไม่ได้บอกว่าให้หยุด หรือ เลิกการค้าขายทองคำ” ผู้ว่า ธปท. กล่าว

 นอกจากนี้ ยอมรับว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอีก ส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนต่างชาติมีการเข้ามาลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ และ การขยายฐานการผลิตเพิ่มขึ้นในไทย โดยเฉพาะในไตรมาส 3/62 มีนักลงทุนเข้ามาซื้อกิจการในมูลค่าที่สูง ไม่รวมกับบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทุกอย่างเป็นแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่า

  นายเมธี สภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พบว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับต่ำกว่าที่คาดไว้ และ ในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงได้อีก ซึ่งเสียงมติเอกฉันท์ไม่ได้เป็นสิ่งที่คณะกรรมการไว้วางใจ

 “ดอกเบี้ยที่ระดับ 1.25% ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดเท่าที่เคยมี ซึ่งหากในอนาคตมีความจำเป็น หรือ สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงก็อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ เพราะ 1.25% ไม่ใช่ Magic Number เราต้องทำให้สมดุลทั้ง 2 ด้าน ส่วนกรอบเงินเฟ้อนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลัง และ จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีปลายปีนี้”

 ด้าน นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายหลังจากที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนสิงหาคม 2562 จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย โดยจะติดตามปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบของสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม

 กนง. เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และให้พิจารณาดำเนินมาตรการเพิ่มเติมตามความจำเป็นในจังหวะที่เหมาะสม ทั้งมาตรการต่าง ๆ ที่ ธปท. สามารถดำเนินการได้เอง อาทิ การผ่อนคลายกฎเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายด้านขาออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้คนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น และมาตรการที่ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่น อาทิ การส่งเสริมการลงทุนเพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

 กนง. เห็นว่าในระยะต่อไปที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสมและตรงจุดยิ่งขึ้น เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน

 รวมทั้งเห็นว่า ธปท. ควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันนโยบายที่เหมาะสม เพราะการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจต้องอาศัยความเข้าใจลักษณะของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน อาทิ กลุ่มที่มีฐานะทางการเงินเข้มแข็ง กลุ่มที่มีหนี้สูงและเปราะบาง รวมทั้งกลุ่มที่ขาดวินัยทางการเงิน เพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและเหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่ม อาทิ แนวทางการสร้างวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมของครัวเรือน การปรับโครงสร้างหนี้และคลินิกแก้หนี้ รวมทั้งการนำหลักการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (responsible lending) ไปใช้อย่างเหมาะสม

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!