หมวดหมู่: เศรษฐกิจทั่วไป

01 C.Biที่อยู่อาศัยโล


รองนายกฯ'จุรินทร์'เปิดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2562 ที่ พอช. คึกคัก ยันรัฐหนุนบ้านมั่นคงแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ 1 ล้านครัวเรือน

    พอช./รองนายกฯ จุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์ เป็นประธานเปิดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2562 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ มีผู้แทนชุมชนทั่วประเทศ-ต่างชาติร่วมงานกว่า 400 คน  ยันรัฐบาลเดินแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี พร้อมใช้ที่ดินรัฐ-โฉนดชุมชนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ 1 ล้านครัวเรือน ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนเตรียมจัดกิจกรรมตลอดเดือนตุลาคมนี้ทั่วภูมิภาค เพื่อเสนอรูปธรรมความสำเร็จการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยต่อระดับนโยบายและสาธารณะ รณรงค์สร้างความเข้าใจในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท  และผลักดันนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยกับหน่วยงานเจ้าของที่ดิน 

    วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น 'วันที่อยู่อาศัยโลก' (World Habitat Day)  เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์  ตลอดจนสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม  และเพื่อสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการให้มนุษย์ทุกคนมีที่อยู่อาศัยในอนาคต โดยในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม ในประเทศไทยมีการรณรงค์เคลื่อนไหวของภาคประชาชนหลายกลุ่ม  และจะมีการจัดกิจกรรมตลอดช่วงเดือนตุลาคมนี้

     โดยในวันนี้ (10 ตุลาคม) ระหว่างเวลา 9.00-16.30 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศจัดมหกรรม 'งานวันที่อยู่อาศัยโลกประจำปี 2562'

    โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน  พร้อมด้วยนายสากล ม่วงศิริ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง พม. นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการ พอช. คณะผู้บริหาร พอช. ผู้แทน UN Habitat และ UN ESCAP ผู้แทน ส.ป.ก. ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศ ผู้แทนและผู้นำชุมชนจากต่างประเทศ  รวม 400 คน เข้าร่วมงานที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถนน นวมินทร์ เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ

     นายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า  แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของกระทรวง พม. การเคหะแห่งชาติรับไปดำเนินการ 2 ล้านครัวเรือน และพอช.ดำเนินการประมาณ 1 ล้านครัวเรือน รวมทั้งจะดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนSDGs (Sustainable Development Goals)ขององค์การสหประชาชาติ  โดย พอช.มีงานพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สำคัญ คือ 1.โครงการบ้านมั่นคง  ทำทั้งในเมืองและชนบท  ที่ผ่านมาดำเนินการไปแล้วกว่า 1 แสนครัวเรือน 2.โครงการบ้านมั่นคงชนบท คือการสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านเรือนที่ยากจนในชนบท  ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 4 หมื่นครัวเรือน  และ 3.คนไร้บ้าน ขณะนี้ ดำเนินการไปแล้ว ที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และกำลังก่อสร้างอีกแห่งที่ จ.ปทุมธานี

     นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ กล่าวว่า โครงการบ้านมั่นคงที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้เสร็จไปแล้วกว่า 1 แสนครัวเรือน ถือเป็นความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายที่นำไปสู่ความสำเร็จ  และรัฐบาลชุดนี้จะดำเนินการต่อตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2579 รวมทั้งหมดประมาณ 1 ล้านครัวเรือน

“ในปี 2579 ฝันของพี่น้องจะเป็นจริง เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วประเทศ  นอกจากนี้ ก็จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs)เป้าหมายที่ 11 ขององค์การสหประชาชาติ ในเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยประเทศไทยจะเป็นต้นแบบ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เรื่องบ้านมั่นคง  และการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้เพื่อนบ้านในอาเซียนและทั่วโลกได้มาเรียนรู้”รองนายกฯ กล่าว

     นอกจากนี้ นายจุรินทร์ได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มประชาชนที่ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยว่า รัฐบาลมีแนวทางที่จะให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยตามแนวทางบ้านมั่นคงอยู่แล้ว โดยชุมชนที่เดือดร้อนสามารถขอใช้ที่ดินของรัฐและหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งที่ดินรัฐวิสาหกิจและเอกชนได้ โดย พอช.จะเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานขอใช้ที่ดินกับหน่วยงานต่างๆ และร่วมกันพิจารณาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ส่วนนโยบายโฉนดชุมชนรัฐบาลนี้ก็จะดำเนินงานต่อ และถือเป็นเรื่องสำคัญ  เพื่อให้ชุมชนได้มีที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง  ได้รับการรับรองจากรัฐอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ผิดกฎหมาย โฉนดชุมชนก็จะช่วยให้ชุมชนได้รับการรับรองตามกฎหมาย โดยชุมชนเป็นเจ้าของโฉนดร่วมกัน  และทุกคนสามารถอยู่อาศัยในชุมชนนั้นได้

แผนแม่บท 20 ปีตั้งเป้าแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน 3 ล้านครัวเรือน

      ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  ระบุว่า ประเทศไทยมีครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 21,325,000 ครัวเรือน สัดส่วนครัวเรือนที่มีบ้านและที่ดินเป็นของตัวเองมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ครัวเรือนเช่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญก็คือ 'สัดส่วนครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง' โดยในปี 2552 จำนวนครัวเรือนที่มีรายได้น้อยไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมีจำนวน 2,468,160 ครัวเรือน แต่ในปี 2558 จำนวนครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็น  3,595,581 ครัวเรือน (ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน  ปี 2552-2558 สำนักงานสถิติแห่งชาติ)

       จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงจัดทำ'แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)'เสนอต่อรัฐบาล และได้รับการเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 โดยมีเป้าหมายให้คนไทยทุกคนเข้าถึงสิทธิในที่อยู่อาศัย มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ และเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายและครอบคลุมในทุกมิติ มีวิสัยทัศน์ คือ 'คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579'

ตามแผนแม่บทดังกล่าว  การเคหะแห่งชาติ จะดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัย ในรูปแบบของการขาย หรือเช่า-ซื้อให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยมีเป้าหมายประมาณ 2 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร บ้านการเคหะฯ

      ขณะที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ 'พอช.'จะดำเนินการในรูปแบบการสนับสนุนให้ชุมชนที่เดือดร้อนและมีรายได้น้อยรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัย เช่น ชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านในที่ดินรัฐและเอกชน ชุมชนเช่าที่ดินเอกชนแต่ไม่มีความมั่นคงฯลฯ มีเป้าหมายประมาณ 1,050,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ โครงการที่สำคัญคือ ‘บ้านมั่นคง’

     นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า หลักการสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของ พอช.ก็คือ'ให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาของตนเอง' โดยมีหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน  เช่น พอช. องค์กรปกครองในท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายต่างๆ เปลี่ยนจากการที่หน่วยงานรัฐทำให้  เป็นชุมชนที่เดือดร้อนซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาดำเนินการเอง

     'โดยชาวบ้านและชุมชนที่เดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ เริ่มตั้งแต่การร่วมกันสำรวจข้อมูลชุมชน ข้อมูลผู้ที่เดือดร้อน กำหนดทางเลือกในการแก้ไขปัญหา เช่น หากเป็นชุมชนบุกรุกที่ดินของรัฐก็จะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินอย่างถูกต้อง หรือจัดหาที่ดินแปลงใหม่ และร่วมกันออกแบบบ้าน ออกแบบผังชุมชน ให้ตรงกับความต้องการของชาวชุมชน โดยมีสถาปนิกชุมชนจาก พอช. หรือสถาบันการศึกษาเป็นพี่เลี้ยง และร่วมกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนดำเนินการ จนถึงการบริหารงานก่อสร้างบ้านและชุมชน' ผอ.พอช. กล่าว

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

ais 790x90GC 950x120

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!